เอาจริง ๆ ก็เป็นเวลาที่ค่อนข้างนานแล้วที่ผมไม่ได้มาอัพเดท Blog นี้เลย น่าจะเกิน 1 ปีได้แล้วกระมัง เนื่องจากช่วงเวลาที่ใช้ในชีวิตนักเรียนป.โทที่ญี่ปุ่นนั้นค่อนข้างยุ่งเป็นอย่างมาก ทำให้ไม่ค่อยมีเวลามาอัพเดท Blog เสียเท่าไหร่ ตอนนี้หลังจากเรียนจบจึงเริ่มมีเวลาว่างมากขึ้นเอาเป็นว่าเดี๋ยวผมค่อยมาทยอยเขียนอัพเดทย้อนหลังให้ก็แล้วกัน
สำหรับวันนี้อยากจะบอกเล่าเรื่องราวในวันพิธีจบการศึกษาให้ฟัง หากพูดถึงเรื่องพิธีการจบการศึกษาทุกคนก็จะนึกไปถึงการรับปริญญาที่เราต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อมาแต่งหน้าทำผมแล้วเปลี่ยนเป็นชุดครุยเพื่อเร่งรีบไปยังสถานที่จัดงานตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้นเพื่อรอเข้างานในช่วงสายหรือบ่าย ๆ ส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นพิธีที่ไร้สาระและวุ่นวายเอามาก ๆ ทำไมเราถึงต้องพาตัวเองมาลำบากถึงขนาดนี้ จนถึงขนาดที่ผมเคยกล่าวกับที่บ้านว่าจะไม่เข้ารับปริญญาอีกหากเรียนต่อปริญญาโท
สุดท้ายก็ตัดสินใจเข้ารับปริญญา
หากจะกล่าวตามตรงผมเกลียดพิธีรับปริญญามาก และรู้สึกว่ามันเป็นการทรมานสังขารอีกทั้งยังเสียเงิน เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ จนถึงขนาดตั้งใจว่าจะไม่เข้าร่วมพิธีรับปริญญาอีกตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น แต่ทว่าสุดท้ายผมก็ต้องกลืนน้ำลายตัวเองจนได้ เอาจริง ๆ การที่ผมตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมการรับปริญญาในครั้งนี้นั้นมันก็มีเหตผลอยู่หลายประการด้วยกัน
1. ผมอยากลองมีประสบการณ์การร่วมพิธีรับปริญญาในประเทศญี่ปุ่นดู ผมเชื่อว่าใครหลายคนน่าจะเคยเห็นวีดิโอหรือคลิปจากใน youtube หรือ internet มาบ้างแล้วเกี่ยวกับความหรรษาของพิธีรับปริญญาในประเทศญี่ปุ่นและแน่นอนว่าผมเองก็อยากลิ้มลองประสบการณ์แบบนั้นดูบ้าง
2. เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม และใช่ครับนี่รวมถึงการไม่ต้องไปซื้อหรือเช่าชุดครุยด้วย อันที่จริงสำหรับพิธีจบการศึกษาที่ญี่ปุ่นจะมีบางคนที่ใส่ชุดประจำชาติ (ชุดฮากามะ) โดยเฉพาะเหล่าสาว ๆ เนื่องจากมีสีสันและลวดลายที่สวยงาม แต่สำหรับหนุ่ม ๆ อย่างเราแล้วกลับไม่ค่อยเป็นที่นิยมนักทำให้ส่วนมากมักจะใส่เป็นชุดสูทตามปกติมากกว่า (แน่นอนว่าสำหรับนักศึกษาต่างชาติก็สามารถใส่ชุดประจำชาติของตนเองหรือจะใส่เป็นชุดทำมือเข้าร่วมงานได้เหมือนกัน)
3. เราไม่มีความจำเป็นต้องตื่นแต่เช้าเพื่อมารวมตัวยังสถานที่จัดการก่อนประอาทิตย์ขึ้นเหมือนไทยแต่อย่างใด อีกทั้งกำหนดการสำหรับช่วงพิธีการไม่ได้ยาวนานและเคร่งครัดขนาดนั้น
จริง ๆ มันมีเหตุผลยิบย่อยอื่น ๆ อีกมากมายแต่เอาเป็นว่าเหตผลหลัก ๆ ก็มีประมาณ 3 ข้อนี้แหละที่ทำให้เราตัดสินใจว่าจะลองเข้าร่วมงานรับปริญญาของญี่ปุ่นดู
วันรับปริญญา
วันนี้เป็นวันที่เราได้นอนน้อยมาก ราวๆ 2 ชั่วโมงเองมั้ง ซึ่งสาเหตของการนอนน้อยนั้นไม่ได้เกิดจากการที่ต้องตื่นเช้าแต่อย่างใด (ฮา) จริงๆจะเรียกได้ว่าเกือบสายก็ได้แหละมั้งเพราะกว่าจะตื่นก็เกือบ 7 โมงแล้ว กว่าจะขุดตัวเองลุกไปอาบน้ำแต่งตัว เอ้อละเหยกับกาแฟยามเช้า ก็ล่วงเข้าถึงช่วง 8 โมงครึ่ง จึงจะออกจากบ้านไปมหาลัยซึ่งใช้เวลาเดินไปราวๆ 15 นาที (ความเร็วการเดินของคนญี่ปุ่น)
ส่วนสาเหตของการตื่นสายนั้นเกิดจากการผิดเพี้ยนของเวลานอนซึ่งผมเคยเป็นช่วงที่ต้องเร่งปั่นงานวิจัยจนเวลานอน เวลาตื่นมั่วไปหมด และแน่นอนครับว่าสิ่งนั้นมันดันกลับมาในช่วงสองสามวันก่อนวันรับปริญญาเลยทำให้เกิดสภาพดังกล่าวขึ้น ซึ่งในตอนหลังที่ไปคุยกับคนอื่นๆก็พบว่าทุกคนเกิดภาวะเวลานอนเพียนเหมือน ๆ กัน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากช่วงที่ต้องเขียนเล่มจบ (ฮา)
หลังจากที่ทำการคืนบัตรนักศึกษาและ commuter pass (บัตรส่วนลดสำหรับการซื้อตั๋วรถบัส/รถไฟ) ให้คณะตอน 9 โมงเช้าแล้วก็ถึงเวลาพบปะกับกลุ่มเพื่อนเพื่อรอเวลาเรียกรวมตอน 10 โมงไปยังหอประชุมของมหาลัย สำหรับชุดที่ใส่ ก็อย่างที่ได้เคยเกริ่นใว้แล้วข้างต้น เพื่อนส่วนมากเองก็ใส่เป็นชุดสูทไม่ก็ชุดประจำชาติของตัวเอง อย่างเช่นเพื่อนชาวอินเดียของผมเองก็ใส่ชุดประจำชาติมาในวันนี้ ตอนที่เดินตามหลังนางก็ต้องก้มมองพื้นอยู่บ่อยๆ กลัวว่าจะเผลอไปเหยียบผ้าสไบจนนางหงายหลังล้ม (ฮา)
เมื่อใกล้ถึงเวลา 10 โมงก็จะมีเจ้าหน้าที่มากวาดต้อนบรรดาบัณฑิตใหม่ให้ลงไปที่หอประชุมชั้นใต้ดินซึ่งก็ไม่ได้มีการตั้งแถวตามลำดับรหัสนักศึกษาหรือตามรายชื่ออะไรแต่อย่างใด เรียกได้ว่าใครอยากยืนลำดับไหนก็ยืนเอาที่พวกคุณสบายใจเลย (ฮา) และแน่นอนว่าภายในห้องประชุมก็ไม่ได้มีการลำดับที่นั่งเช่นกัน จะมีก็แต่ป้ายคณะตั้งเป็นโซนๆ ซึ่งภายในโซนนั้นก็เลือกที่นั่งเองได้ตามอัธยาสัย ใครอยากนั่งกับใครอะไรยังไงแล้วแต่เลือกเลย
หลังจากเข็มนาฬิกาบอกเวลา 10 โมงเป๊ะ ก็ถึงเวลาที่พิธีการจะเริ่มดำเนินขึ้น ซึ่งตรงนี้เองคือความแกรนด์ของความเป็นญี่ปุ่นผสมกับความเป็นมหาลัยคริสต์ โดยเริ่มจากมีวงประสานเสียงจะเริ่มขับร้องเพลงอะไรซักอย่าง (คือเขามีกำหนดการให้แหละแต่ลืมแล้ว) ซึ่งเราสามารถร้องตามได้ (ถ้าอยาก) เพราะก่อนเข้าห้องเขาจะมีแจกกำหนดการรวมถึงสคริปบทพูทและเนื้อเพลงทั้งหมดที่จะใช้ในพิธีเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และแน่นอนว่าแค่การขับร้องประสานเสียงอย่างเดียวมันไม่แกรนด์พอ ก็เลยมีการเล่นออแกนและเครื่องดนตรีอื่นๆที่เรามักจะได้เห็นเวลามีการขับร้องบทสวดกันในโบสถ์มาเล่นประกอบด้วย พร้อมกับถ่ายทอดสดพิธีการทั้งหมดขึ้นบน YouTube ด้วย

หลังจากที่วงประสานเสียงเริ่มขับร้องบทเพลง บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ ก็เริ่มเดินขึ้นมาบทเวทีจนเมื่อเพลงสิ้นสุดลง ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านั้นก็ประจำอยู่บนเวทีเรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็จะเป็นการกล่าวเปิดงานโดยคณะบดีของมหาลัย การอ่านพระวจนะจากพระคัมภีร์จากศาสตราจารย์ผู้ที่เป็นตัวแทนคริสตศาสนิกชนของมหาลัยแล้วจึงเริ่มเข้าสู่พิธีมอบปริญญาบัตร
พิธีมอบปริญญาบัตรนี้เองเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะไม่ได้เหมือนกับของไทยที่ทุกคนต้องขึ้นไปรับใบปริญญากันให้วุ่นวาย แต่เป็นแค่การส่งตัวแทนขึ้นไปรับ เช่นตัวแทนของนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคณะ ตัวแทนของนักศึกษาระดับปริญญาโททุกคณะ เท่ากับว่าในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทเองจะมีแค่ 2 คนจากบรรดานักศึกษาทั้งหมดเท่านั้นที่มีสิทธิ์ขึ้นรับใบปริญญาในพิธีหลัก เพื่อร่นระยะเวลาและความซับซ้อนของพิธีการลง จะมีเพียงนักศีกษาปริญญาเอกเท่านั้นที่ขึ้นรับทุกคน
คำถามต่อไปคือแล้วคนที่เหลือล่ะ?
ไม่มีพิธีมอบใบปริญญาเหรอ?
คำตอบคือมีครับ แต่ไม่ใช่ในพิธีหลัก เมื่อพิธีหลักในหอประชุมรวมเสร็จสิ้นลง แต่ละคณะก็จะแยกย้ายกันกลับไปยังหอประชุมในคณะของตัวเองเพื่อจัดพิธีมอบปริญญาบัตรแยกต่างหากอีกที (คนที่ได้รับเลือกให้ขึ้นรับกับคณะบดีก็จะถูกยึดคืนแล้วมาจัดพิธีมอบใหม่พร้อมกับเพื่อน ๆ คนอื่น) ซึ่งพิธีในส่วนนี้เป็นพิธีปิด ไม่มีการถ่ายทอด และไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมงานได้ ต่างกับพิธีในส่วนแรกที่อนุญาตให้ผู้ปกครองรวมถึงแขกเหลื่อที่บัณฑิตเชิญมาเข้าร่วมงานได้อย่างอิสระ ซึ่งจะใช้เวลามากน้อยต่างกันตามแต่จำนวนของนักศึกษาที่จบในรุ่นนั้นๆ
ยกตัวอย่างกรณีของผม พิธีหลักจะกินเวลาตั้งแต่ 10 โมงเช้าจนถึง 11 โมง และ พิธีภายในจะเริ่มประมาณ 11 โมงครึ่งจนถึง เที่ยงตรง หลังจากนั้นก็จะเป็นเวลาถ่ายรูปอิสระ ซึ่งใครอยากถ่ายกับเพื่อนหรือไปถ่ายรูปกับอาจารย์ที่ปรึกษาก็จะใช้โอกาสนี้ในการเดินถ่ายรูปกันประหนึ่งดาราคิวทอง จนถึงเวลาบ่ายโมง ทุกคนก็จะย้ายกันไปที่ห้องประชุมอีกห้องเพื่อทานอาหารร่วมกันเป็นมื้อสุดท้าย ซึ่งอาหารก็จะจัดขึ้นตามสไตล์ cocktail กล่าวคือเป็นโต๊ะอาหารที่วางๆเอาไว้ส่วนคนเข้าร่วมก็เดินมาเลือกหยิบไปทาน ไม่ได้มีโต๊ะวางแน่นอนเหมือนโต๊ะจีน เน้นสไตล์ยืนคุยเพื่อ make connection กันเสียมากกว่า จนเวลาล่วงเลยถึงบ่ายสองโมงก็เป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมด
สรุป
หลายคนอาจสงสัยว่าเอ๊ะแบบนี้มันก็ใช้เวลามากกว่าไทยนี่นา ซึ่งจริงครับ หากเราจะมองแค่เฉพาะตัวเวลานั้นมันยาวนานกว่าของไทยแต่จุดที่ควรนำมาพิจารณาคือความ flexible ของพิธีการที่มีการ move สถานที่อยู่ทุกๆ 1-2 ชั่วโมง รวมถึงการจัดแจงแบ่งช่วงพิธีการเป็นหมวด ๆ ทำให้มีเวลาอิสระที่เพิ่มเข้ามาทำให้มันไม่น่าเบื่อ ผิดกับของไทยที่หลังจากเดินเข้าห้องประชุมแล้วก็ต้องนั่งเฉยๆเป็นชั่วโมง ๆ เพื่อรอให้ถึงคิวตัวเองแล้วก็กลับมานั่งรอต่อเป็นชั่วโมง จะเข้าห้องน้ำหรืออะไรก็ลำบาก แถมจะเม้ามอยกับเพื่อนฆ่าเวลาก็ทำได้ไม่ถนัดเนื่องจากที่นั่งถูกจัดเรียงตามรายชื่อหรือตามรหัสนักศึกษา สำหรับผมแล้วมันถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ทรมานและเสียเวลาโดยใช่เหตอย่างมากในชีวิตเลยก็ว่าได้ ผิดกับพิธีของที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นการจัดสรรเวลาอย่างพอเหมาะ และลดความเป็นพิธีการลงเพิ่มความ flexibility เข้าไปมากขึ้นทำให้ไม่รู้สึกอึดอัดมากนัก
สำหรับงานรับปริญญาที่ผ่านมาก็สามารถบรรยายสรุปคร่าว ๆ ได้ประมาณนี้ (นี่เรียกคร่าว ๆ แล้วเหรอ) จริง ๆ มีจุดที่สามารถเขียนเพิ่มได้มากกว่านี้ แต่ขอหยุดเอาไว้แต่เพียงเท่านี้ดีกว่า ก่อนที่ Blog นี้จะยาวจนเกินไป เพราะตอนที่กำลังเขียน draft นี้ก็ปาไปราวๆ 3 หน้ากระดาษ A4 ของโปรแกรม Pages เสียแล้ว
สำหรับใครที่อ่านมาจนถึงจุดนี้ก็ขอขอบคุณความพยายามที่อ่านมาจนจบครับ
แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้าครับ