เอาจริงๆ เราเป็นคนที่รักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วแหละ แต่เมื่อโตขึ้นมันก็มีช่วงหนึ่งที่หยุดอ่านหนังสือไปเพราะเริ่มหันมาเสพสื่อในด้านอื่น ๆ มากขึ้นเช่นเกมคอมพิวเตอร์หรือพวกรายการออนไลน์ต่าง ๆ จนช่วงที่ได้ย้ายกลับไปอยู่ญี่ปุ่นถึงได้เริ่มกลับมาอ่านหนังสือเป้นบ้าเป็นหลังอีกครั้ง
ซึ่งก็เถียงไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งมาจากความเหงาจนไม่รู้จะระบายออกมายังไง ก็ได้หนังสือคอยเป็นเพื่อนคู่คิดอยู่เสมอมา เอาจริง ๆ ก็รู้สึกดีเหมือนกันที่ได้กลับมาเป็นคนเสพติดการอ่านหนังสืออีกครั้ง เพราะเรารู้สึกว่าช่วงเวลาที่ได้จดจ่ออยู่กับหนังสือคือช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเอง หลายครั้งที่เวลาเราอ่านหนังสือแล้วรู้สึกว่าสิ่งที่เราอ่านมันได้สะท้อนมาถึงตัวเราในหลาย ๆ แง่มุม
ครั้งนี้เองก็เหมือนกัน เมื่อวานระหว่างทางที่นั่งรถไฟฟ้ากลับบ้าน เราได้อ่านหนังสือเรื่องหนึ่งชื่อ ‘ร้านขนมแห่งความลับ’ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาวคนนึ่งชื่อ ‘อุเอโมโตะ เคียวโกะ’ หรือ ‘อันจัง’ ที่กำลังจะจบม.ปลายและยังคงสับสนกับเส้นทางชีวิตที่ตัวเองจะเดินต่อจากนั้นว่าควรจะเรียนต่อมหาลัยหรือเริ่มทำงานเลยดี แล้วถ้าเริ่มทำงาน จะเข้าทำงานในบริษัทหรือเป็นพนักงานพาร์ทไทมแบบที่เรียกว่าฟรีเตอร์ซึ่งกำลังเป็นกระแสในหมู่วัยรุ่นดี
ต้องเกริ่นอย่างนี้ก่อนว่าในประเทศเกาะ การที่เรียนจบชั้นมัธยมปลายแล้วตัดสินใจไม่เรียนต่อในระดับมหาลัยแล้วเริ่มทำงานเลยนั้นถือเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ไม่เหมือนประเทศไทยที่มักไม่เปิดโอกาสให้คนที่เรียนจบชั้นมัธยมได้เข้าทำงานในบริษัท หรือรับเข้าทำงานแต่ไม่มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงานเพราะด้วยค่านิยมที่เชิดชูใบปริญญาผิดกับประเทศเกาะที่ใช้ความสามารถ ผลลัพท์ของงาน และอายุงานที่อยู่ในบริษัทเป็นเกณ์ในการเลื่อนตำแหน่ง ส่วนต่างเพียงอย่างเดียวของคนที่เริ่มงานด้วยวุฒิมัธยม ปริญญาตรี โท หรือเอก คือเงินเดือนเริ่มต้นที่แตกต่างกัน นอกจากนี้แล้วในส่วนของสวัสดิการณ์ หน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โอกาสเติบโตภายในองค์กรณ์ล้วนไม่ได้แตกต่างกันมากนัก
ตัดกลับมาที่หนังสือเรื่อง ‘ร้านขนมแห่งความลับ’ เส้นทางที่อันจังเลือกเดินคือการเป็นพนักงงานพาร์ทไทม์ในร้านขายวากาชิ (ขนมโบราณของญี่ปุ่น) ซึ่งการดำเนินเรื่องก็ออกไปในแนวไขปริศนา คำใบ้ ซึ่งได้ความรู้มากมายทั้งในมุมของภาษาญี่ปุ่น รวมไปจนถึงบทกวี งานพิธีหรือประเพณีดั้งเดิมประจำฤดูการ แต่เรื่องที่เราจะพูดถึงใน blog นี้ไม่ใช่เรื่องนี้ พอดีผมไปสะดุดกับคำ ๆ นึงในเล่ม ซึ่งคำนั้นก็คือ ‘นกน้ำตาลปั้น’
นกน้ำตาลปั้น คำนี้ถ้าให้เทียบกับไทยเราก็คงสามารถเทียบเคียงได้กับคำว่า ดีแต่เปลือก เพราะหมายถึงสิ่งของหรือคนที่ภายนอกดูดี แต่เนื้อในแล้วกลับกลวงโบ๋ ไม่ได้สวยงามดังที่เห็นภายนอก เช่นคนที่ภายนอกดูฉลาดแต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีความรู้อะไรมากมาย หรือขนมที่มีรูปลักษณ์สวยงาม แต่เมื่อกินแล้วกลับไม่ได้มีความโดดเด่นอะไรที่แตกต่างจนเป็นเอกลักษณ์
พออ่านมาถึงจุดนี้เราก็ตระหนักได้ว่าอันที่จริงแล้วคำว่า นกน้ำตาลปั้น ก็เป็นคำเปรียบเปรยที่เหมาะจะใช้อธิบายตัวเราเองเหมือนกัน ถึงแม้วุฒิการศึกษาสูงสุดจะเป็นปริญญาโทจากมหาลัยชื่อดังในญี่ปุ่น แต่สุดท้ายแล้วก็เป็นเพียงแค่เปลือกนอกที่ภายในกลับว่างเปล่า กลวงโบ๋ จนน่าเวทนา
ผมเป็นมนุษย์ที่ไม่มีอะไรโดดเด่น ไม่มีเอกลักษณ์อะไรเป็นของตัวเองสักอย่าง ไม่มีวิชาที่ถนัด ไม่มีความรู้เฉพาะทางที่โดดเด่น จะมีก็เพียงความรู้อันตื้นเขินในแต่ละด้าน ปราศจากความสามารถพิเศษ ไร้ซึ่งคุณสมบัติพิเศษใด ๆ จะมีก็เพียงเรื่องการอ่านที่พอจะนับว่าเป็นงานอดิเรกได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นนักอ่านตัวยงขนาดนั้น สนใจเรื่องประวัติศาสตร์เอเชียกับเรื่องราวของเทพปกรนัม แต่ก็รู้แค่งู ๆ ปลา ๆ
ตามจริงในเอกสารสมัครงาน (履歴書) หรือโปรไฟล์ใน matching app เองก็ไม่รู้จะใส่อะไรลงไปดี บางทีอาจจะเลวร้ายกว่า ‘นกน้ำตาลปั้น’ เสียด้วยกระมัง แม้กระทั่งรูปร่างเองก็ไม่ได้น่ามองหรือมีอะไรโดดเด่น ไม่มีกล้ามมีแต่ชั้นไขมันที่พอจะซ่อนเอาไว้ได้ด้วยเสื้อขนาด oversize ต้นขาที่ใหญ่ถึงขนาดที่รู้สึกรัดเล็กน้อยเวลาใส่กางเกง slack ทางสุภาพ แถมหน้าตาเองก็ไม่ได้ดีเด่อะไร ขนาดที่ว่าหากอีกฝ่ายมองหน้าในระยะใกล้หรือสังเกตดี ๆ ก็จะมองเห็นรูขุมขนที่กว้างกว่าปกติจนน่าเกลียดที่ไม่ว่าจะลองวิธีการไหนก็ไม่สามารถทำให้มันกระชับได้จนเริ่มท้อและยอมแพ้ในที่สุด ได้แต่พยายามบำรุงให้มันไม่เลวร้ายไปมากกว่านี้
พอคิดได้แบบนี้มันก็แอบสลดเบา ๆ เหมือนกัน เหมือนกับตระหนักได้ว่าที่จริงแล้วข้างในขอตัวเราเองก็กลวงโบ๋ไม่ต่างกับ ‘ขนมน้ำตาลปั้น’ แต่ต่างกันตรงที่เปลือกนอกของ ‘ขนมน้ำตาลปั้น’ ยังดูสวยงาม แต่ตัวเรานั้นเปลือกนอกก็น่าเกลียดไม่แพ้ข้างในที่กลวงโบ๋เลย
บันทึกเมื่อ วันที่ 11 เดือน 4 ปีเรวะที่ 7 (วันที่ 14 เดือนยาโยย ปีเรวะที่ 7 ตามปฏิทินเก่า)
ณ ห้องประชุมเล็ก ๆ ใน clubhouse สักแห่งใจกลางเขตพระขโนง กรุงเทพมหานคร