บทความ

การทำ Self Reflection

สวัสดีครับ ตอนนี้สัปดาห์แรกในเดือนมิถุนายนได้ผ่านไปแล้ว ก่อนหน้านี้เราไปเจอบทความมาบทความหนึ่งที่น่าสนใจมากมันเกี่ยวกับการ self reflection และการให้คะแนนตัวเอง ในด้านของความสุขในการใช้ชีวิต

โดยจะเป็นการประเมิณตัวเองแบบ รายวัน รายสัปดาห์และรายสองเดือน ซึ่งเอาจริง ๆ เราก็พยายามทำการประเมิณแบบสะท้อนตัวเองอยู่บ่อย ๆ แต่มันไม่ค่อยจะเป็นแบบแผนเท่าใดนัก หนึ่งในนั้นคือการเขียนบันทึกความทรงจำลงบล็อกนี้ เราเลยคิดว่ามันน่าจะถึงเวลาแล้วหรือเปล่าที่เราควรจะทำมันแบบจริงจังและมีแบบแผนซักที 

โดยการสะท้อนแบบรายวันในตอนแรกเราตั้งใจว่าจะมาในรูปแบบของการเขียนไดอารี่ในตอนค่ำ หรือไม่ก็เขียนเป็นสรุปสิ่งที่เราตั้งใจว่าจะทำในตอนเช้าหลังดื่นนอน เพื่อให้เห็นว่าอะไรที่มันสำคัญที่เราต้องรีบทำกับอะไรที่มันดูเหมือนจะสำคัญแต่จริง ๆ แล้วมันก็ไม่ได้สำคัญขนาดนั้น สิ่งนี้สามารถช่วยได้มากเรื่องการจัดระเบียบความคิดของเราในแต่ละวันเพื่อให้เราเอาไปปรับปรุงในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนเราก็ทำอยู่เนือง ๆ แต่พอเอาเข้าจริงแล้วช่วงพักหลังมานี้ดูเหมือนสุดท้ายการทำ reflect แบบรายวันจะไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก เนื่องจากพอถึงเวลาจริงเราก็ไม่มีเวลามาเขียนสะท้อนตัวเองเท่าไหร่ เขียนบ้างไม่เขียนบ้าง แต่จะเน้นหนักไปในทางที่ไม่ได้เขียนเสียส่วนมากในช่วงพักหลังมานี้ 

ทว่าถ้าเป็นรายสัปดาห์ยังถือว่าพอจะมีความหวังอยู่บ้าง ตอนนี้เราเลยพยายามเข้มงวดกับตัวเองให้หยิบคอมขึ้นมาเพื่อเขียน reflect รายสัปดาห์อยู่ สำหรับการเขียนสะท้อนตัวเองรายสัปดาห์จะแตกต่างจากรายวันอยู่บ้างพอสมควร เพราะการลิสต์สิ่งที่ต้องทำหรือสิ่งที่ตั้งใจว่าจะทำนั้นไม่ใช่ main point ของการสะท้อนรายสัปดาห์อีกต่อไป เอาจริงถ้ามีมันก็ดีอ่านะ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่เราต้องใส่ใจเกี่ยวกับการสะท้อนรายสัปดาห์ แต่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นั้น ๆ มากกว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เรามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจาก routine ที่เราตั้งใจเอาไว้หรือเปล่า เรายังออกไปวิ่งในทุกสัปดาห์อย่างที่เคยทำอยู่ไหม เราได้มีเวลาให้ตัวเองได้ร้องไห้บ้างหรือเปล่า 

เพื่อทำให้ทุกสัปดาห์ที่ผ่านไปมีความหมายและความพิเศษในตัวมันเอง รวมถึงอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น สัปดาห์นี้เราไม่ได้เปิดไพ่ให้ใครเลยเพราะงั้นเราขอเรียกสัปดาห์นี้ว่า ‘สัปดาห์งดจั่ว’ ก็แล้วกัน หรือเช่นสัปดาห์นี้เราไม่มีเวลาเข้าไปทำตัวกวนๆในไลฟ์ของพี่พายเลยเพราะงั้นขอเรียกสัปดาห์นี้ว่า ‘สัปดาห์งดพาย’ หรือสัปดาห์นี้งานเยอะจนเวลานอนหดหายไปเกือบหมดเลย เพราะงั้นเราจะเรียกมันว่า ‘สัปดาห์ขอบตาคล้ำ’ เป็นต้น

เอาจริง ๆ มันก็กึ่ง ๆ จะเป็นไดอารี่ประจำสัปดาห์นั่นแหละ และแน่นอนว่า บล็อกที่ทุกคนกำลังอ่านอยู่ตอนนี้ก็คือสะท้อนรายสัปดาห์ของสัปดาห์นี้เช่นกัน เพื่อบอกว่าเราจะเริ่มทำสะท้อนตัวเองแบบจริงจังแล้วนะ เพราะงั้นเราจะตั้งชื่อสัปดาห์นี้ว่า ‘การเริ่มต้นของการสะท้อน’ เป็นชื่อที่ดูดีมะ ?

เอาตรง ๆ ว่าเราเองก้ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะสามารถทำมันไปได้จนถึงเมื่อไหร่แต่อย่างน้อยการที่เราได้เริ่มต้นลองทำอะไรบางอย่างมันก็ดีกว่าการที่เราไม่ทำอะไรเลยใช่มั้ยล่ะ ตอนนี้เราตั้งหน้าตั้งตารอการประเมิณตอนรอบสองเดือนมาก ๆ เพราะในการประเมิณรอบสองเดือนนั้นจะเป็นตัวบ่งชี้เลยว่าเรากำลังมีความสุขกับเส้นทางที่เราเลือกอยู่จริงหรือเปล่า หรือเราควรจะประเมิณเส้นทางชีวิตใหม่

สำหรับการประเมิฯรอบสองเดือนตามบทความที่เราไปอ่านมาเขาบอกว่าให้ประเมิณตามตัวแปร 6 ข้อ เพื่อให้เห็นกราฟเส้นทางของชีวิตว่าชีวิตเราในช่วงนี้เป็นยังไงบ้างและให้คะแนนเต็มของแต่ละ ตัวแปรอยู่ที่ 10 คะแนนเพื่อให่้เรามาประเมิณว่าตอนนี้เราได้ไปกี่คะแนนแล้ว แล้วเพราะอะไรเราถึงให้คะแนนตัวเองเท่านั้น

โดยตัวแปรทั้ง 6 ตัวนี้จะประกอบไปด้วย

  • 1. คุณค่าส่วนตัว – สิ่งที่ทำอยู่ยังไปกันได้กับคุณค่าที่เราตั้งไว้ในชีวิตไหม (ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม)
  • 2. เป้าหมายทั้งส่วนตัวและในเชิงอาชีพ – สิ่งที่ทำอยู่ทำให้เรา ‘ก้าวไปข้างหน้า’ ไหม
  • 3. สุขภาวะและความสุข – สุขภาพกายเป็นอย่างไร สุขภาพใจเป็นอย่างไร
  • 4. ความสัมพันธ์ – กับครอบครัวเป็นอย่างไร กับเพื่อนเป็นอย่างไร
  • 5. การแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์ – งาน, สิ่งที่ทำช่วงนี้ ทำให้เราได้เป็นตัวเองไหม ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ไหม ได้พัฒนาจิตใจภายในไหม
  • 6. เวลา – การใช้เวลาช่วงนี้เป็นอย่างไร รู้สึกว่า “ขาดแคลน” เกินไปไหม
  • อ้างอิงจากบทความของคุณ Teepagorn Champ Wuttipitayamongkol บน facebook

ซึ่งจากเจ้าของบทความประเมิณไว้ว่า ถ้ารอบไหนประเมิณออกมาแล้วต่ำกว่า 60% อาจจะต้องมานั่งประเมิณเส้นทางชีวิตใหม่ว่างสิ่งที่เราทำอยู่มันตอบโจทย์เราจริง ๆ ไหม แต่โดยส่วนตัวเรามองว่าถ้ามันต่ำกว่า 75% มันก็ควรจะเริ่มต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดแล้วนะ ว่าเราอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางการใช้ชีวิตในบางมุมหรือเปล่า ถ้ารอจนต่ำกว่า 60% มันอาจจะถึงจุดอันตรายแล้วก็เป็นได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอันนี้ก็ยังคงเป็นความเห็นส่วนตัวของเราอยู่ดี อาจจะต้องรอจนถึงช่วงสะท้อนราย 2 เดือนก่อนถึงจะสามารถบอกได้ว่าสำหรับเราแล้วตัวเลขที่เหมาะสมที่ถ้าต่ำกว่าเลขนั้นไปแล้วเราต้องมานั่งวางแผนชีวิตใหม่คือเท่าไหร่ เพราะเราเชื่อว่าจุด trigger ของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน เพื่อให้การสะท้อนนี้มันเกิดประโยชน์กับเราจริง ๆ ก็คงต้องมีการปรับเปลี่ยนกันบ้างเพื่อให้มันตอบโจทย์เรามากที่สุด

ส่วนที่ว่าการทำแบบนี้มันจะช่วยจริงเหรอ สำหรับเราที่มักจะพยายยามหาโอกาส reflect ตัวเองอยู่เสมอ เรากล้าตอบได้เลยว่าจริง คือในจุดนนี้คนอื่นอาจจะไม่รู้ แต่เรารู้สึกว่ามันช่วยจัดระเบียบความคิดของเราได้ดีพอสมควร และช่วยปรับปรุงแนวคิดและแนวทางในการทำงานหรือทำสิ่งต่าง ๆ ของเรา ทำให้เรารู้ว่าอันไหนสำคัญอันไหนควรให้ความใส่ใจ รวมถึงจุดแข็งจุดอ่อนของเรา มีวิธีไหนที่เราสามารถปรับปรุงหรือปกปิดจุดอ่อนของเราได้ จะเรียกว่าเป็นการยกระดับศักยภาพของเราไปอีกขั้นก็ได้ 

ซึ่งบางครั้งมันก้ไม่ใช่อะไรที่สามารถเห็นได้ชัดด้วยตาเปล่าจากภายนอกแต่เราจะสามารถรู้สึกได้ด้วยตัวเองถ้าเราทำการ reflect ตัวเองอยู่บ่อย ๆ ว่าเรามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง แล้วมันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหรีือแย่ลง อย่างล่าสุดเรารู้สึกว่าเราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีการจัดการวางแผนงานสำหรับงานอดิเรกอันมากมายหลากหลายของเรา ไม่ให้ถูกบดบังหรือได้รับผลกระทบจากงานหลังที่เริ่มกินเวลาส่วนตัวของเราเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อย ๆ ในแต่ละวัน

เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าสุดท้ายแล้วการทำแบบนี้มันตอบโจทย์สำหรับคนอื่นหรือไม่ เพราะงั้นถ้าใครที่ผ่านมาอ่านแล้วสนใจการทำ reflect แบบนี้แต่ยังลังเลก็รอดูรอติดตามการเปลี่ยนแปลงของเราไปก่อนแล้วค่อยตัดสินใจก็ได้ เราเองก็คงจะลองวิธีนี้ไปซักพัก และพยายามเขียน reflect ให้ได้ทุกสัปดาห์จนครบสองเดือนแล้วมาดูผลลัพท์กันว่ามันจะสามารถเปลี่ยนแปลงเราไปในทางที่ดีขึ้นหรือเปล่า