ไดอารี่

1 เดือนครึ่งผ่านไปหลังกลับมาไทย

สวัสดีครับ นี่น่าจะเป็นบล็อกแรกหลังจากที่ผมตัดสินใจย้ายบ้านกลับมาไทย 

เอาจริงๆ ก็กลับมาได้เดือนกว่าแล้ว แต่ยังหาโอกาสมาเขียนไม่ได้ เพราะกำลังอยู่ในช่วงปรับตัว และ setup ชีวิตในไทย แต่เอาจริงๆแล้ว เรื่องที่อยากจะเล่าก็คงจะไม่ได้มีอะไรมากมายนัก นอกจากเรื่องการปรับตัวการใช้ชีวิตในไทย

พอกลับมาอยู่ไทยการปรับตัวสำหรับการใช้ชีวิตในไทยเองก็เป็นเรื่องที่น่าหนักใจในบางเรื่อง แต่ในบางเรื่องก็ทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นกว่าตอนอยู่ญีปุ่นอีกมาก

Photo by Samantha Gades on Unsplash

ด้านการเงิน

สิ่งแรกเลยคือเรื่องดีที่ผมสามารถถอนเงินได้ตลอด 24 ชั่วโมงจากตู้ ATM แน่นอนว่าในมุมของคนไทยสิ่งนี้มันก็ไม่ได้แปลกหรือมีอะไรที่น่าตื่นเต้นมากมายนัก แต่สำหรับคนที่อยู่อาศัยในประเทศเกาะมาอย่างยาวนานแบบเราแล้วสิ่งนี้คือนวัตกรรมที่เราใฝ่หามันมาก เพราะที่ญี่ปุ่น ATM ส่วนมากมักจะปิดทำการตอนเวลา 5 ทุ่มของทุกวัน รวมไปถึงมีการคิดค่าธรรมเนียมการฝากถอนสำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นหลัง 6 โมงเย็นของวันธรรมดา รวมไปถึงธุรกรรมที่เกิดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ กลับกันที่ไทยนั้นเราสามารถฝากถอนได้ผ่านตู้ ATM ตลอด 24 ชั่วโมงทั้ง 7 วันโดยไม่มีค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม (ถ้าไม่ได้ทำธุรกรรมข้ามเขตอ่านะ)

อีกอย่างเลยคือที่ไทยเกือบจะกลายเป็นระบบไร้เงินสดแบบสมบูรณ์ไปแล้ว ซึ่งแตกต่างจากญี่ปุ่นมาก ในญี่ปุ่นทุกคนต้องถือเงินสดจำนวนหนึ่งติดกระเป๋าอยู๋ตลอดเวลา และการซื้อขายสินค้าต่างๆก็เน้นการใช้เงินสดเป็นหลัก ยิ่งโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ ที่บางร้านถึงกับไม่รับบัตรเครดิทและการชำระเงินรูปแบบอื่นนอกจากเงินสด ร้านค้าที่ประกาศรับเฉพาะเงินสดในช่วงเวลาปกติเองก็ยังมีให้เห็นอยู่มากมาย หากจะให้เปรียบเปรยก็คงจะเปรียบได้ประมาณว่า 

ถ้าเราไม่มีเงินสดก็เสมือนเราไปขอเขากิน ถึงแม้ว่าเราจะมีเงินก็ตาม

แต่กลับกันในไทยนั้นมุ่งเน้นไปที่สังคมไร้เงินสดและการชำระผ่านช่องทาง QR เป็นหลัก สมัยช่วงเดือนแรกที่เพิ่งกลับมาผมได้มีโอกาสไปทานอาหารกับมิตรสหายที่ไม่ได้พบเจอกันนาน ครั้นเมื่อถึงคราวที่ต้องหารค่าอาหารกันผมก็หยิบเงินสดออกมาจ่ายให้เพื่อนแบบพอดีด้วยความเคยชิน แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือเกือบทุกคนในวงส่งสายตาแปลกๆมาหา พร้อมทั้งถามกลับมาว่า 

ในบัญชีไม่มีเงินเลยเหรอ?

จะว่าอย่างไรดี ในกรณีนี้คงจะสามารถเรียกว่าเป็น reverse culture shock ก็คงได้กระมัง

Photo by Eduardo Soares on Unsplash

มารยาทในที่สาธารณะ

อันนี้จะบอกว่ามันไม่ได้กระทบมากขนาดนั้นแต่ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดใจพอสมควรในช่วงแรก ๆ ที่เรากลับมาอยู่ไทย โดยส่วนมากมักจะเป็นในเรื่องของการใช้เสียงบนรถโดยสารสาธารณะ เมื่อตอนอาศัยอยู่ในประเทศเกาะด้วยมารยาทและบรรทัดฐานทางสังคมทำให้เมื่อขึ้นรถโดยสารสาธารณะเช่นรถไฟหรือรถประจำทางการคุยโทรศัพท์หรือส่งเสียงดังมักจะเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง แต่แน่นอนว่าไม่ใช่สำหรับที่ไทย เพราะคนไทยแปลว่า ‘อิสระ’ ถึงได้เคยมีคำเปรียบเปรยเชิงเสียดสีว่า ‘ทำอะไรตามใจ คือไทยแท้’ กันเลยทีเดียว

อีกเรื่องหนึ่งที่ชอบทำเราสับสนมากคือมารยาทการใช้บันไดเลื่อน แน่นอนว่าในประเทศเกาะเรามักจะยืนชิดซ้ายเมื่อต้องการขึ้นบรรไดเลื่อนแล้วเว้นที่ทางขวาไว้ให้คนเดิน (ยกเว้นประเทศโอซาก้าที่ยืนชิดขวาแล้วให้เดินชินซ้าย) แต่ในประเทศไทยสิ่งเหล่านี้กลับสลับกันเป็นถ้าต้องการยืนให้ชิดขวาส่วนฝั่งซ้ายให้เว้นไว้เพื่อให้คนที่เร่งรีบสามารถเดินได้ แน่นอนว่าช่วงที่เพิ่งกลับมาเราก็ยังไม่ชินเพราะปรับตัวไม่ได้ ทำให้หลายครั้งกลายเป็นว่าเราไปยืนขวาทางทำให้คนอื่นไม่สารมารถเดินผ่านไปได้ (ฮา)

ตอนนี้เท่าที่นึกออกก็น่าจะประมาณนี้แหละ (มั้ง?) เดี๋ยวไว้ถ้านึกออกจะมาเขียนเล่าใหม่

สำหรับวันนี้คงเอาไว้แค่นี้ก่อนละกัน รู้สึกว่าบล็อกนี้เริ่มจะยาวเกินไปแล้ว

แล้วไว้พบกันใหม่ครั้งหน้าครับ สุดท้ายนี้ขอลากันไปด้วยคลิปที่ถ่ายจากน่านฟ้าเหนือประเทศไทยละกัน