ไอดอล

Fan Letter จดหมายถึงคนไกล

เอาล่ะ บล็อกนี้เราจะมาคุยกันเรื่องการเขียน fan letter !!!

เราเชื่อว่าบางคนพอมีศิลปิน ไอดอล ดารา นักร้อง หรือนักแสดงที่ชอบมาก ๆ ก็เคยมีความคิดที่จะส่งจดหมายส่งของขวัญไปหาเขา แต่กว่าครึ่งก็ล้มเลิกความตั้งใจนั้นไปด้วยเหตุผลหรือข้ออ้างต่าง ๆ นา ๆ ที่เราอุปโลกขึ้นมาเพื่อปลอบประโลมตัวเอง

เราเองก็มีวงไอดอลที่ชื่นชอบมาก ๆ และตามวงนี้มานานในระดับหนึ่งอยู่เหมือนกัน

นั่นทำให้เราเริ่มที่จะหาข้อมูลในการเขียนจดหมายส่งไปพูดคุยให้กำลังใจกับเด็กคนนั้น

เอาจริง ๆ จากตอนนั้นจนตอนนี้เราก็ส่งไปหลายฉบับแล้วล่ะนะ

ก็เลยจะมาเล่าถึงประสพการณ์ตอนที่เริ่มคิดจะส่ง fan letter ช่วงแรก ๆ ให้อ่านกัน

เริ่มหาข้อมูลช่องทางการส่งจดหมาย

สารภาพว่าตอนที่เรามีความคิดว่าจะเขียนจดหมายไปหาน้องที่เราเชียร์อยู่นั้นเราค่อนข้างประหม่ามาก เรียกได้ว่าพยายามหาข้อมูลรวบรวมข้อมูลอยู่พักหนึ่งว่ามีช่องทางส่งจดหมายจากแฟนคลับไปให้ได้หรือไม่ ซึ่งจากที่เราไล่ถามคนรู้จักหลาย ๆ คนก็พบว่าทุกคนไม่ค่อยมีข้อมีข้อมูลในจุดนี้เลย หรือบางคนรู้แค่ว่าน่าจะสามารถส่งได้

เอาล่ะ ความหวังเริ่มคืบคลานเข้ามาแล้ว จากที่เรามืดแปดด้านมาตลอดในที่สุดก็ค้นพบแสงเทียนที่จุดขึ้นเอาไว้

แต่ทว่าถึงจะรู้ว่าสามารถส่งไปได้แต่กลับไม่มีใครรู้ว่าต้องส่งไปที่ไหน ประหนึ่งเหมือนแสงเทียนที่เราพบเจอในสถานที่อันมืดมิดนั้นถูกใครก็ไม่รู้มาเป่าให้มันดับมอดลงไปอีกครั้ง

แต่แล้วสวรรค์ก็ไม่ทอดทิ้งเรา เพราะหลังจากงมในเว็บไซต์ official อยู่พักใหญ่เราก็เจอช่องทางการส่ง fan letter จนได้ เย้ !!!

ซึ่งจุดที่ official ให้ข้อมูลเกี่ยวกับที่อยุ่ในการส่ง fan letter ดันไปอยู่ในหน้า FAQ บ้าบอมาก (ขำ)

หรือจริง ๆ แล้วมันควรจะอยู่ในหมวดนี้อยู่แล้วหรือเปล่านะ เราอาจจะผิดเองที่หาไม่เจอก็ได้ (ฮา)

เขียนอะไรลงไปใน Fan letter ดี

พอได้ที่อยู่ในการจัดส่งแล้วก็เข้าสู่ปัญหาหลักของการเขียน fan letter กัน นั่นก็คือเนื้อหาที่จะเขียนลงไป เราควรจะเขียนอะไรลงไปดี !!

เอาจริง ๆ เราคิดว่ามันไม่ได้มีกฏตายตัวว่าควรจะเขียนอะไรลงไป หรือเนื้อหาควรจะเป็นแบบไหน

และก็เพราะการที่มันไม่มีกฏตายตัวนี่แหละทำให้เราเริ่ม panic อีกครั้ง ใจนึงก็อยากส่ง fan letter ไป แต่อีกใจก็กลัวเพราะไม่รู้จะเขียนอะไรลงไปดี สุดท้ายวันนั้นก็จบลงด้วยการที่เราจับดินสอแล้วนั่งจ้องกระดาษทั้งวันโดยที่ไม่ได้ลงมือเขียนอะไรไปแม้แต่ตัวเดียว (ฮา)

แต่หลังจากที่คิดแล้ว คิดอีก แล้วก้คิดอีกที สุดท้ายเราก็เขียนแบบเล่าเรื่องตามปกติ พูดถึงรายการที่ไปออกบ้าง พูดถึงไลฟ์บ้าง เพลงใหม่บ้าง อีเว้นหรือเหตุการณ์สำคัญที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้บ้าง แล้วก็มีแทรกเล่าเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเราลงไปบ้างเล็กน้อย

เอาจริง ๆ แนวการเลือกเนื้อหาที่จะเขียนส่วนใหญ่เราก็ดูทรงจากจดหมายที่เขียนเข้าไปในรายการวิทยุแล้วได้รับเลือกมาอ่านออกอากาศนั่นแหละ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นแนวที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองหรือเรื่องที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้เป็นส่วนใหญ่ เราเลยเลือกที่จะเขียนเนื้อหาประมาณนี้

ก็ได้แต่หวังว่ามันจะไม่เป็นการไปสร้างความรำคาญให้แก่เขาล่ะนะ

ควรส่งจดหมายแบบไหนดี

อันนี้ก็เป็นปัญหาระดับชาติอีกเหมือนกัน เมื่อเรามีจดหมายแล้ว รู้ที่อยู่ในการจัดส่งแล้ว เราควรจะส่งจดหมายแบบไหนดีเพื่อให้มั่นใจว่ามันจะถึงมืออีกฝ่ายแน่ ๆ

เอาจริง ๆ สารภาพว่าเราเองก็ทำการลองผิดลองถูกกับพี่ไปรษณีย์อยู่พักหนึ่งจนในที่สุดเราก็ได้วิธีการส่งที่คุ้มที่สุดสำหรับกรณีของเรามา

ซึ่งการส่งจดหมายแน่นอนว่ามีหลากหลายรูปแบบมาก ในครั้งนี้เราจะขอยกกรณีของเราเป็น case study มาเล่าเป็นตัวอย่างก็แล้วกัน

Fan Letter ที่เราส่งมีปลายทางอยู่ที่ต่างประเทศ โดยกรณีของเราคือเราส่งไปที่ประเทศญี่ปุ่น และเงื่อนไขของเราคือรเาต้องการรู้ว่าตอนนี้จดหมายเราเดินทางไปอยู่ที่ไหนแล้วเพราะฉะนั้นคือต้องมีเลขให้สามารถตาม Track จดหมายได้

พอเรามีความต้องการที่ชัดเจนแล้วเราก็เริ่มลงมือค้นหาข้อมูลถึงวิธีการส่งจดหมายที่ตรงกับเงื่อนไขของเรา จนในที่สุดเราก็พบว่ามีความเป็นไปได้ทั้งหมด 3 วิธีถ้าเราส่งกับไปรษณีย์ไทยนั่นคือ EMS, ePacket และการส่งแบบลงทะเบียน

สาเหตุที่เราเลือกส่งกับไปรษณีย์ไทยเพราะเพื่อนคนไทยที่อยู่ญี่ปุ่น และเพื่อนที่เคยส่งของไปญี่ปุ่นหลายคนแนะนำให้ส่งกับไปรษณีย์ไทย เราเลยตัดสินใจเลือกขนส่งเจ้านี้

แต่สิ่งที่เราคาดไม่ถึงก็เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่เรากำลังจะลองส่งด้วยวิธี ePacket พี่ไปรษณีย์ไทยก็บอกกับเราว่า ePacket สามารถ Track ได้แค่ช่วงที่อยู่ในประเทศเท่านั้น หากออกไปต่างประเทศแล้วจะไม่สามารถ Track ต่อได้ !? ทำให้ตอนนี้เราเหลือตัวเลือกเพียงแค่ 2 แบบ นั่งคือส่งแบบลงทะเบียนกับใช้บริการ EMS ระหว่างประเทศไปเลย

สุดท้ายเราก็เลยลองส่งทั้งสองแบบดูแต่ถึงกระนั้นเราก็ไม่ได้ส่งทั้ง 2 วิธีพร้อมกันในรวดเดียว (ใครมันจะบ้าทำแบบนั้น)

ในครั้งแรกเราเลือกใช้บริการ EMS ระหว่างประเทศซึ่งมีค่าบริการอยู่ที่ราว ๆ 750 บาท ระยะเวลาการส่งจากกรุงเทพไปโตเกียว รวมแล้วราว ๆ 9 วัน (ไม่นับวันที่เราเอาจดหมายไปส่งที่ไปรษณีย์)

และในครั้งที่สองก็เปลี่ยนมาลองเราเลือกใช้การส่งแบบลงทะเบียนแทนซึ่งมีค่าบริการอยู่ที่ 175 บาทและใช้ระยะเวลาประมาณ 10 วันในการส่งจดหมายจากกรุงเทพไปโตเกียว (ไม่นับวันที่เราเอาจดหมายไปส่งที่ไปรษณีย์)

จากผลการทดสอบที่ผ่านมาทั้งสองครั้ง แน่นอนว่าตั้งแต่ครั้งที่สามเป็นต้นไปเราก็เลือกส่งแบบลงทะเบียนมาตลอด เพราะมันถูกกว่ายังไงล่ะ !!! แถมระยะเวลาที่ใช้ก็ไม่ได้ต่างกันมากมายทำไมต้องยอมเสียแพงกว่าด้วย (ฮา)

จากทั้งหมดทั้งมวลที่เราเล่ามากข้างต้นก็หวังว่ามันพอจะเป็นประโยชน์หรือเป็นแนวทางให้สำหรับคนที่คิดว่าจะเริ่มลงส่งอะไรไปหาศิลปิน ไอดอล หรือบุคคลที่เราชื่นชอบบ้างไม่มากก็น้อย

แล้วพบกันใหม่บล็อกหน้าครับ