บทความ

ว่าด้วยเรื่องของ Digital Arts และ NFT

สวัสดีครับ ใน Blog ก่อนเราเล่าถึง Defi กันไปแล้ว คราวนี้ผมจะขอพูดถึง NFT บ้างก็แล้วกัน

ก่อนอื่นเลยเราคงต้องเริ่มจาก NFT คืออะไรกันก่อน

NFT คืออะไร

NFT หรือ Non-Fungible Tokens ถ้าให้อธิบายภาษาบ้าน ๆ ง่าย ๆ เลย ผมขอเรียกมันว่าสิทธิบัตรดิจิตอลก็แล้วกัน

และเพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นผมขออธิบายเพิ่มเติมว่าเจ้า NFT หรือสิทธิบัตรดิจิตอลเนี่ยคือ Token เฉพาะที่ไม่สามารถลอกเลียนหรือทำซ้ำได้โดยจะทำหน้าที่คล้ายกับหมายเลข Serial ติดไปกับตัวสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ชิ้นนี้เป็นสินค้าที่มีเจ้าของ (ผู้ถือครอง Token นั้น ๆ) และใครเป็นผู้ถือครองสินค้า

และเจ้าตัว Token นี้เองก็ถูกออกแบบมาให้สามารถทำงานได้บนเทคโนโลยี Blockchain ที่มีความปลอดภัยสูงและตรวจสอบได้ง่ายจึงยากต่อการปลอมแปลงหรือทำ Token ซ้ำขึ้นมาแน่นอนว่าเราเองก็สามารถขาย Token นี้ต่อให้กับคนอื่นใน Blockchain ได้อีกด้วย

ให้ลองนึกภาพว่าสมมติเราซื้อกระเป๋าหลุยส์รุ่น Limited Edition มาซึ่งมีเพียง 3 ใบบนโลก และแต่ละใบจะมี Serial Number หรือมี Certificate ซึ่งเป็นเอกสารยืนยันสิทธิ์มาจากบริษัทผู้ผลิต

ทีนี้เราลองคิดต่อว่าทำไม Certificate นี้ถึงมีความน่าเชื่อถือ ?

นั่นก็เพราะว่า Certificate ที่เราได้มาตอนซื้อกระเป๋าหลุยส์ใบนั้นทางบริษัทเป็นคนออกใบรับรองให้ด้วยตัวเอง ในอนาคตหากเราคิดจะขายกระเป๋าหลุยส์ใบนั้นเราก็สามารถขายพร้อมกับใบ Certificate เพื่อเป็นการยืนยันว่ากระเป๋าที่เรากำลังจะขายนั้นเป็นของแท้ ซึ่งผู้ซื้อเองก็สามารถที่จะนำใบรับรองนั้นไปขอให้ทางบริษัทตรวจสอบได้

จากตัวอย่างที่ยกมา เราจะมาลองเทียบมันกับ NFT ดูก็จะเทียบได้ว่า

  • กระเป๋าหลุยส์ที่เราซื้อมา = Digital Arts อะไรบางอย่างที่วางขาย
  • Serial Number หรือใบ Certificate = Token หรือ NFT
  • บริษัทที่ทำหน้าที่ยืนยัน Certificate ว่าเป็นของจริง = Blockchain

แนวคิดการทำงานของ Non-Fungible Tokens

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า Token ของ NFT นั้นอยู่บนระบบ Blockchain ทำให้ตัว Token นั้นมีความปลอดภัยและน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากเทคโนโลยี Blockchain คือการใช้ระบบทั้งระบบมาช่วยกันยืนยันความถูกต้อง ซึ่งจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าการที่จะไปอ้างอิงจากหน่วยงานหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงอย่างเดียว NFT จึงถือเอาประโยชน์ตรงจุดนี้มาใช้ในการประกาศความเป็นเจ้าของในผลงาน Digital Art ชิ้นนั้น ๆ ให้โลกรู้แทน

ซื้อ NFT มาแล้วได้อะไร

ก็ไม่ได้อะไรครับ เอาจริงๆแล้วนอกจากเป็นการประกาศสิทธิ์ความเป้นเจ้าของแล้วก็ไม่ได้มีอะไรอย่างอื่นเลย อย่าง tweet แรกของ Twitter หรือ Meme ที่มีชื่อเสียงซึ่งนำมาขายเป็น NFT ผู้ที่ซื้อไปก็ไม่ได้มีสิทธิพิเศษอะไร เพราะทาง Twitter ก็ไม่ได้นำ tweet นั้นลงแต่อย่างใด

ส่วนตัวผมมองว่าซื้อมาแล้วจะได้อะไรหรือไม่ได้อะไรนั้นอยู่ที่ความคิดของตัวผู้ซื้อเองล้วน ๆ ถ้าผู้ที่ซื้อมา มองเห็นคุณค่าใน Digital Art ชิ้นนั้น มันก็จะมีค่า แต่หากเราไม่ได้มองเห็นคุณค่านั้นเราก็จะรู้สึกว่าซื้อมาแล้วไม่ได้อะไร เปรียบเสมือนเราซื้อเพลงบนเว็บ mora หรือ iTune สิ่งที่เราได้ก็คือไฟล์เพลงที่เราซื้อมา ซึ่งต่อให้เราไม่ซื้อเราก็สามารถฟังเพลงได้ผ่านช่องทางออนไลน์อื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเสียงเงินอย่าง joox หรือ spotify ก็ได้ กระนั้นก็ยังมีบางคนที่เต็มใจจะซื้อเพลงอยู่ดี

ในปัจจุบันมีการใช้ Non-Fungible Tokens เพื่อซื้อขายอะไรบ้าง?

ปัจจุบันส่วนใหญ่ในตลาดที่เราจะเห็นกันส่วนมากมักจะเป็นงาน Digital Art หรือสินค้าที่เราไม่สามารถจับต้องได้เป็นส่วนใหญ่ เช่น Meme, 3D Model, เพลง, ภาพวาด, ไอเทมในเกม หรือแม้กระทั่งการ์ดสะสมแบบ Digital

สาเหตุหลักที่ทำให้ NFT ได้รับความนิยมนั้นเกิดมาจากการที่ในปัจจุบันงานศิลปะดิจิทัลหรือ Digital Art นั้นถูกละเมิดลิขสิทธิ์และแอบอ้างความเป็นเจ้าของนำไปใช้งานต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างต่อเนื่อง จึงมีศิลปินและนักสร้างสรรผลงานจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะแปลงผลงานตัวเองให้เป็น NFT และนำเข้ามาขายในตลาด

ด้วยความที่ NFT พัฒนาบน Blockchain ที่มีน่าเชื่อถือสูงประกอบกับการที่เป็นตลาดใหม่และมีแนวโน้มที่จะเติบโตออกไปได้อีกจึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่หันมาให้ความสนใจและเริ่มลงทุนซื้อขายสินค้า NFT ทำให้จำนวนเงินหมุนเวียนในระบบพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันตลาด NFT ที่ได้รับความนิยมในหมู่ศิลปินคนไทยจะมีอยู่ 2 ตลาดหลัก ๆ คือ opensea และ rarible ซึ่งสามารถเลือกที่จะขายแบบตั้งราคาตายตัวหรือจัดการประมูลเพื่อขาย Digital Art ของเราก็ได้ แต่ทั้งนี้ค่า Gas และค่าธรรมเนียมการขายของทั้งสองเว็บยังคงถือว่ามีราคาที่ค่อนข้างสูงอยู่เล็กน้อย

สุดท้ายผมขอยกตัวอย่างของ NBA Hotshot ที่เอาภาพ gif ฉากทำคะแนนของนักกีฬาดัง ๆ มาขายเป็น NFT ซึ่งทาง NBA Hotshot ก็ใช้ Model การขายแบบการ์ดสะสมทั่วไปคือมีการสุ่มภาพ gif ที่จะได้โดยอัตราการออกของนักกีฬาที่มีชื่อเสียงก็จะต่ำกว่านักกีฬาทั่ว ๆ ไป หรือที่เกมเมอร์มักจะรู้จักกันในชื่อของ ‘กาชา’ ซึ่งเป็นโมเดลการขายที่ได้รับการพิสูจน์กันมาอย่างยาวนานแล้วว่าเป็นโมเดลทางธุรกิจที่ประสพความสำเร็จอย่างล้นหลาม